บรรลุปฐมฌานในวันแรกนาขวัญ
เมื่อสิทธัตถราชกุมารทรงเจริญวัย มีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา
พระเจ้าสุทโธทนะ ได้รับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีขึ้น ๓ สระ ภายในบริเวณพระราชนิเวศน์
ครั้นถึงวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จเข้าสู่สถานที่
มณฑลพิธีกระทำการแรกนาขวัญ โปรดให้พระราชกุมารเสด็จไป โดยมีพระพี่เลี้ยง
นางนมทั้งหลายคอยเฝ้าปรนนิบัติ ครั้นพิธีแรกนาขวัญเริ่มขึ้น พวกพี่เลี้ยงนางนม
ต่างพากันออกไปดูพิธีแรกนาขวัญกันหมด
พระราชกุมารเสด็จไปประทับอยู่ใต้ร่มต้นหว้าลำพังพระองค์เดียว ประทับนั่ง
สมาธิเจริญอานาปานสติกรรมฐานเกิดความสงบสงัดจนได้บรรลุปฐมฌาน
พอเวลาบ่าย เงาต้นไม้ทั้งหลายเบี่ยงเบนไปตามแสงตะวันทั้งหมด แต่เงาของต้นหว้า
ต้นนั้นยังคงอยู่เหมือนเดิม เสมือนหนึ่งเป็นเวลาเที่ยงวัน มิได้เอนไปตามแสงตะวัน
ดังต้นไม้อื่น ๆ ปรากฏเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก
พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นความมหัศจรรย์เช่นนั้น จึงยกพระหัตถ์
นมัสการ
ครั้นพระราชกุมาร มีพระชนม์เจริญวัย สมควรจะได้รับการศึกษาศิลปวิทยาแล้ว
พระราชบิดาได้ทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูชื่อ “วิศวามิตร”
ได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ จนจบสิ้น
ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
บทภาพยนตร์
ดนตรีประกอบ
สิทธัตถกุมาร
เจ้าสองคนคงอยากจะไปดูพิธีแรกนาขวัญกันสินะ
สิทธัตถกุมาร
วันนี้เสด็จพ่อรับสั่งให้ตกแต่งนคร จัดพระราชพิธียิ่งใหญ่ ปีหนึ่งจะได้เห็น
กันสักครั้ง พวกเจ้าไปดูเถอะเราจะนั่งเล่นอยู่แถวนี้ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก
พี่เลี้ยง ๑
ถ้าอย่างนั้นพวกหม่อมฉันขออนุญาตไปชมประเดี๋ยวเดียว เสร็จพระราชพิธีแล้ว
จะรีบกลับมานะเพคะ
บรรยาย
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ตามลำพังท่ามกลางความสงบจึงนั่งสมาธิ จนบรรลุ
ปฐมฌาน ขณะนั้นเป็นเวลาบ่าย เงาต้นไม้ทั้งหลายเบี่ยงเบนตามแสงแดด
แต่เงาของต้นหว้านั้นกลับมิได้เอนเอียงอย่างต้นไม้อื่นๆ
บรรยาย
เมื่อพระพี่เลี้ยงกลับมาเห็นต่างพากันประหลาดใจ จึงนำความไปกราบทูล
พระเจ้าสุทโธนะให้ทรงทราบ พระองค์ได้รีบเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นความอัศจรรย์
พระเจ้าสุทโธทนะ (เสียงก้องในความคิด)
เมื่อวันที่ลูกของเราประสูติใหม่ๆ อสิตดาบสมาเยี่ยมพิจารณาลูกของเรา
แล้วกราบแทบเท้าอย่างไม่คาดคิดเราก็ได้กราบไปครั้งหนึ่งด้วย มาครั้งนี้ลูกของเรา
แสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นอีก เราจะขอกราบเป็นครั้งที่สอง
ดนตรีประกอบ
บรรยาย
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัยมีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะ
มีรับสั่งให้เสนาอำมาตย์ขุดสระขึ้นสามสระภายในพระราชวัง.....
เพื่อให้พระโอรสเล่นสำราญพระทัยร่วมกับ พระสหายวัยเดียวกัน
บรรยาย
ครั้นเจ้าชายเจริญวัยขึ้นพอสมควรจะได้รับการศึกษาศิลปวิทยาการ
พระราชบิดาจึงทรงส่งให้ไปศึกษาที่สำนักครูชื่อ วิศวามิตร (อ่าน วิ-สะ-หวา)
พระองค์ได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการจนเชี่ยวชาญ ในเวลาไม่นานนัก
...เป็นที่ประจักษ์แก่พระอาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิชาจนสิ้นความรู้
ของพระอาจารย์ที่จะสอนต่อไปอีก...
ดนตรีประกอบ
|