มุจลินท์
สัปดาห์ที่ ๖ พระพุทธองค์เสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุขที่ใต้ต้นมุจลินท์
(ไม้จิก) ซึ่งประดิษฐานอยู่ทางทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธองค์
ทรงเปล่งอุทานว่า “ความสงัดและความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก”
ขณะนั้นมีฝนพรำและลมหนาวตลอดเวลา มีพญานาคชื่อ “มุจลินทนาคราช”
เกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าไปทำขนดรอบพระพุทธองค์ ๗ รอบ แผ่พังพาน
อยู่เหนือพระเศียร ป้องกันลมและฝนมิให้ตกต้องพระวรกายได้ ครั้นลมและฝนสงบแล้ว
ก็คลายขนดออก แปลงเพศเป็นมาณพน้อยเฝ้าถวายบังคมอยู่เฉพาะพระพักตร์
เมื่อครบกำหนด ๗ วันแล้ว พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปยังต้นเกดอันได้นามว่า
“ราชายตนะ” ซึ่งอยู่ทางด้านทิศทักษิณแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ เสวยวิมุตติสุข
ณ ที่นี้เป็นสัปดาห์สุดท้าย ครั้นพระองค์ออกจากสมาธิแล้วพระอินทร์จึงนำผลสมอ
อันเป็นทิพย์โอสถมาจากเทวโลกน้อมเข้าไปถวาย
ครั้งนั้น มีพ่อค้าสองพี่น้องคือ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ นำสินค้าบรรทุกเกวียน
เดินทางมาจากอุกกลชนบทผ่านมาทางนั้น ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาองค์หนึ่ง
ซึ่งเคยเป็นญาติกับสองพ่อค้าในอดีตชาติ เห็นสองพ่อค้าแล้วคิดว่า
“พ่อค้าทั้งสองนี้ ลุ่มหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ควรที่เราจะสงเคราะห์
ให้ได้รับประโยชน์สุขอันอุดม”
จึงบันดาลให้โคพาเกวียนไปผิดทางแล้วแสดงตน กล่าวชี้แนะให้สองพ่อค้า
นำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง อันเป็นเสบียงเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า
สองพ่อค้าก็ปฏิบัติตาม เมื่อได้พบพระพุทธองค์ผู้ถึงพร้อมด้วย มหาปุริสลักษณะ
๓๒ ประการ มีพระรัศมีรุ่งเรือง ไม่เคยพบเห็นมาก่อนก็คิดว่า พระพุทธเจ้า
เกิดขึ้นแล้วในโลก นับว่าเป็นบุญอันประเสริฐของพวกตนยิ่งนัก
จึงน้อมนำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงเข้าไปถวาย
พระพุทธองค์ทรงดำริว่า
“บาตรของตถาคตได้หายไปก่อนวันตรัสรู้ ต้องรับข้าว
มธุปายาสของนางสุชาดาด้วยพระหัตถ์”
ทันใดนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ได้นำบาตรศิลาสีเขียวองค์ละใบ
มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมเข้าไปถวาย
พระองค์ทรงดำริว่า “บรรพชิตไม่ควรมีบาตรเกินกว่าหนึ่งใบ”
จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบนั้นประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน แล้วทรงรับ
ข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงของพ่อค้าทั้งสองด้วยบาตรนั้น
ก่อนที่ทั้งสองจะกราบทูลลากลับไปได้ทูลขอปูชนียวัตถุเพื่อนำไปประดิษฐาน
เป็นที่สักการะบูชายังบ้านเมืองของตน พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นลูบพระเศียร
พระเกศา ๘ เส้นติดพระหัตถ์ออกมา จึงประทานพระเกศาทั้ง ๘ เส้นนั้นไปตามประสงค์
เมื่อพ่อค้าสองพี่น้องกราบทูลลาไปแล้ว พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปประทับ
เสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทร) พระองค์ทรงรำพึงถึงธรรมที่ตรัสรู้ว่า
“เป็นธรรมชาติอันลึกซึ้ง ประณีตยิ่งนัก ยากอย่างยิ่งที่มนุษย์
และสรรพสัตว์ทั่วๆ ไป ผู้ซึ่งมีกิเลสหนาปัญญาน้อยหมกมุ่นยินดีอยู่ในกามคุณ
กองกิเลส ถูกครอบงำให้ลุ่มหลงอยู่ในสงสาร ไฉนเลยจะรู้แจ้งได้”
ขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบถึงพุทธดำริจึงชักชวนเหล่าเทพจากเทวโลก
เข้าไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์ทั้งปวง
เมื่อได้สดับคำอาราธนาของท้าวมหาพรหมแล้ว ทรงมีพระทัย กรุณาในหมู่สัตว์ พิจารณาตรวจดูสัตว์โลก เปรียบได้กับดอกบัว ๔ ประเภท
อุคฆฏิตัญญู บุคคลผู้มีอุปนิสัยวาสนาบารมีแก่กล้า สติปัญญาดีและ
มีกิเลสเบาบาง เพียงได้ฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อก็สามารถบรรลุมรรคผล
ได้โดยฉับพลัน เปรียบเหมือนดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว พอถูกแสงอาทิตย์ยามเช้าก็บานทันที
วิปจิตัญญู บุคคลผู้มีอุปนิสัยวาสนาบารมีปานกลาง มีกิเลสและ
ปัญญาปานกลาง ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรมซ้ำหรือได้ฟังอรรถาธิบาย
อีกทั้งได้รับคำแนะนำ ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ
ซึ่งจะบานในวันต่อไป
เนยยะ บุคคลผู้มีวาสนาบารมีน้อย มีสติปัญญาน้อย มีกิเลสหนา เมื่อได้ฟัง
พระสัทธรรมบ่อยๆ ได้กัลยาณมิตรคอยแนะนำพร่ำสอน พยายามทำความเพียรไม่ขาด
หมั่นเจริญสมถวิปัสสนา ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ
มีโอกาสที่จะบานในวันต่อ ๆ ไป
ปทปรมะ บุคคลผู้มีวาสนาบารมียังไม่บริบูรณ์ถึงขึ้นจะบรรลุธรรมได้ อีกทั้ง
หนาแน่นไปด้วยกิเลส ไม่รู้จักเหตุและผล ยากที่จะสั่งสอนให้บรรลุธรรมได้ในชาตินี้
แต่จะเป็นปัจจัยให้บรรลุธรรมในชาติต่อไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังจมอยู่ในโคลนตม ย่อมเป็นเหยื่อของเต่าและปลา
ดอกบัวมีหลากหลาย เช่น เวไนยสัตว์ผู้มีกิเลสมาก กิเลสปานกลาง กิเลสน้อย
ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า
ครั้นทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ และพระมหากรุณาคุณ
ต่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้ว จึงอธิษฐานพระทัยที่จะทรงแสดงธรรมสั่งสอน
เหล่าเวไนยสัตว์ ทรงตั้งพุทธปณิธานจะดำรงพระชนม์ จนกว่าจะประกาศพุทธศาสนา
ให้แพร่หลาย ประดิษฐานพระธรรมให้มั่นคงแล้ว เหล่าเทพยดาทุกจำพวกทราบถึง
พุทธปณิธานแล้ว ต่างพนมกรถวายอภิวาทพร้อมเปล่งเสียงแซ่ซ้องสาธุการ
และกลับสู่ทิพยวิมานของตน
พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร
แต่ทรงทราบด้วยทิพยจักษุญาณว่า ท่านทั้งสองเพิ่งจะสิ้นชีพ ทำให้พระองค์นึกเสียดาย
เป็นอย่างยิ่ง หากท่านทั้งสองได้ฟังพระธรรมก็จะได้บรรลุพระนิพพานอันเป็นบรมสุข
ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
บทภาพยนตร์
(เสียงประกอบ ลมพัดฟ้าร้องครืนๆ)
(เสียงประกอบน้ำหยดลงในสระ)
บรรยาย
ในสัปดาห์ที่ ๖ พระพุทธองค์เสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุขที่ใต้ต้นมุจลินท์
ตลอดสัปดาห์นั้น มีฝนตกพรำตลอดเวลา พญานาคชื่อมุจลินทนาคราช เกิดศรัทธา
จึงเข้าไปใกล้ แล้วเลื้อยรอบพระพุทธองค์เป็นขนดแล้วแผ่พังพานอยู่เหนือพระเศียร
ป้องกันลมและฝนมิให้ตกต้องพระวรกายได้ ครั้นลมและฝนสงบแล้วก็คลายขนดออก
แปลงเป็นมานพน้อยเฝ้าถวายบังคมพระพุทธองค์
ชายหนุ่มพญานาค(เสียงก้องในความคิด)
ข้าพระพุทธเจ้า...มุจลินทนาคราช ขอถวายอภิวาทต่อพระพุทธองค์
พระพุทธเจ้า
ความสงัด เป็นความสุขของบุคคลผู้มีธรรม … ความยินดีในที่สงัด...
ความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย... ความปราศจากความกำหนัด...การพ้นจากกาม
ทั้งปวงเสียได้ ...เป็นความสุขที่ประเสริฐในโลก... การกำจัดความถือตัวตน
เป็นความสุขอย่างยิ่ง
บรรยาย
ในสัปดาห์ที่ ๗ หลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ ได้เสวยวิมุตติสุขใต้ต้นเกด
อันได้นามว่า “ราชายตนะ” เป็นเวลา ๗ วัน
ดนตรีประกอบ
พระอินทร์
พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขมาตลอด ๗ สัปดาห์ ยังไม่ได้เสวยพระกระยาหาร
ข้าพระองค์จึงได้นำผลสมอที่เป็นทิพยโอสถจากเทวโลก มาน้อมถวายขอพระพุทธองค์
ทรงรับไว้ด้วยเถิด
เทวดา (เสียงก้องในความคิด)
พาณิชทั้งสองนี้เคยทำบุญร่วมกับเรามา ควรที่เราจะสงเคราะห์
ให้ได้พบพระพุทธเจ้า
ภัลลิกะ
ดูสิพี่ตปุสสะอยู่ดีๆ เกวียนของเราทุกเล่มก็หยุดนิ่ง เหมือนล้อถูกตรึงติดกับพื้น
คนของเราช่วยกันเฆี่ยนตีวัวให้ออกแรงลากเท่าไหร่ เกวียนก็ไม่ยอมขยับเลย
ตปุสสะ
อืม … แปลกจัง ทำไมถึง … (ชะงักคำพูด )
เทวดา
พาณิชทั้งสอง พวกเจ้ารู้หรือไม่ว่า... ขณะนี้มีมหาบุรุษ เพิ่งจะตรัสรู้
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่ร่มไม้เกดด้านโน้นพวกเจ้าจงไปกราบเคารพ
แล้วถวายข้าวสัตตุก้อน สัตตุผงที่พวกเจ้านำติดตัวมา … พวกเจ้าก็จะพบกับ
ประโยชน์สุขตลอดไป
ตปุสสะ
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองขอถวายข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ขอพระพุทธองค์
ทรงรับด้วยเถิด
พระพุทธเจ้า (เสียงก้องในความคิด)
บาตรของเรา หายไปก่อนวันตรัสรู้... เมื่อครั้งที่รับข้าวมธุปายาสจากนาง
สุชาดา … ถาดทองที่ใส่มาได้อธิษฐานบารมีลอยน้ำไป คราวนี้นายพาณิชทั้งสอง
มาถวายอาหาร
พระพุทธเจ้า (เสียงก้องในความคิด)
บรรพชิตไม่ควรจะมีบาตรเกินกว่า ๑ ใบ
ตปุสสะ
ข้าพระพุทธเจ้าตปุสสะและน้องภัลลิกะ ขอแสดงตนเป็นอุบาสก
ในพระพุทธศาสนา และขอถึงพระพุทธกับพระธรรมเป็นสรณะที่พึ่งตลอดชีวิต
ภัลลิกะ
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ปรารถนาจะได้สิ่งของสักอย่างหนึ่ง เพื่อไว้
สักการะบูชา ขอทรงประทานด้วยเถิด
พระพุทธเจ้า (เสียงก้องในความคิด)
เราได้ตรัสรู้ธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่คนทั่วไปจะรู้และปฏิบัติได้
พระพุทธเจ้า (เสียงก้องในความคิด)
บุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก พวกที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่อฟังธรรม
ก็รู้และเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำเมื่อต้องแสง
อาทิตย์ก็เบ่งบานทันที...
พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังธรรม และได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม
ก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาไม่นาน เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งจะบาน
ในวันถัดไป...
พวกที่มีสติปัญญาน้อย เมื่อฟังธรรม และได้รับการอบรมฝึกฝนอยู่เสมอ
มีความเพียร มีศรัทธา ในที่สุด สามารถรู้และเข้าใจได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ
ซึ่งจะค่อยๆ พ้นน้ำแล้วเบ่งบานได้ในที่สุด...
พวกสุดท้าย แม้ฟังธรรมเท่าไรก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้
แต่ก็เป็นปัจจัยให้บรรลุธรรมในภพต่อๆ ไป เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม
มีแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
พระพุทธเจ้า (เสียงก้องในความคิด)
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะรักษาชีวิตไว้เพื่อ เผยแผ่พระธรรมสั่งสอนมวลมนุษย์
จนกว่า พระพุทธศาสนาจะแพร่หลายประดิษฐานมั่นคง เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์
(เสียงจำนวนมากเปล่งขึ้นพร้อมกัน)
สา .. ธุ ..
พระพุทธเจ้า (เสียงก้องในความคิด)
เฮ้อ น่าเสียดาย อาฬารดาบสสิ้นชีพมา ๗ วันแล้ว ส่วนอุทกดาบสก็มาด่วน
จากไปเมื่อวานนี้เอง นี่ถ้าอาฬารดาบสยังมีชีวิตอยู่ต่ออีก ๗ วัน และอุทกดาบส
อยู่คอยท่าอีกเพียงวันเดียว … ทั้งสองก็จะได้บรรลุอมตธรรมอย่างแน่นอน
บรรยาย
พระพุทธองค์ทรงหยั่งรู้ด้วยทิพยญาณ ถึงความตายของอาฬารดาบส
กับอุทกดาบส...แล้วทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ที่เคยปรนนิบัติเมื่อครั้งที่
ทำทุกรกิริยา ว่าเป็นผู้มีสติปัญญามาก ถ้าได้สดับฟังพระธรรมเทศนา
จะสามารถบรรลุธรรมได้รวดเร็ว
|