เสด็จป่าอิสิปตนมฤคทายวัน


           พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เห็นว่าท่านทั้ง ๕ เป็นผู้มี
สติปัญญามาก มีกิเลสเบาบางควรแก่การตรัสรู้ และทรงทราบด้วยพระญาณว่า
ขณะนี้ท่านทั้ง ๕ อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี  จึงตกลงพระทัย
เสด็จไปตรัสปฐมเทศนาโปรด

           ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมาต่างนัดหมายกันว่า
           “พระสมณโคดมนี้ คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก
ดังนั้นพวกเราจะไม่ไหว้ ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ ไม่รับบาตรจีวรของพระองค์
เพียงแต่จัดอาสนะไว้เท่านั้น เมื่อพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จงนั่งเถิด”


           เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ต่างพากันลืมสัญญาที่ให้แก่กันไว้ ทำการ
ต้อนรับเป็นอย่างดีดุจที่เคยทำมา แต่เรียกพระนามว่า “โคตมะ” อันเป็นถ้อยคำ
แสดงการไม่เคารพ  พระพุทธองค์จึงกล่าวถึงการตรัสรู้ แล้วประกาศ
พระสัพพัญญุตญาณ

           จากนั้นทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” เป็นปฐมเทศนาครั้งแรกในโลก

           เมื่อพระบรมศาสดาแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง   ทรงทราบว่า
โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม   เป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว
จึงตรัสว่า  
“โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ”

           โกณฑัญญะกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาได้ประทาน
เอหิภิกขุอุปสัมปทา  ให้แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ  ด้วยพระดำรัสว่า
           “เธอจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด”

           วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ อาสาฬหปุรณมี   พระพุทธองค์
ทรงประทับจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นพรรษาแรกของพระองค์
หลังจากที่ตรัสรู้ และได้ประทาน “ปกิณณกเทศนา” สั่งสอนบรรพชิตที่เหลือ
อีก ๔ ท่าน ให้ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้


           ต่อมาพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าพระปัญจวัคคีย์  สมควรสดับ
พระธรรมเทศนา   เพื่อความหลุดพ้นเบื้องสูงขึ้นไปอีก

           ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ พระองค์ตรัสเรียกภิกษุทั้ง ๕
มาประชุมพร้อมกัน แล้วตรัสพระธรรมเทศนา “อนัตตลักขณสูตร”
พระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ขณะสดับพระธรรมเทศนาส่งจิตไปตามกระแส
พระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งปวง ไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปาทาน
ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๕ องค์

 

ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

 

บทภาพยนตร์

 

โกณฑัญญะ
           นั่น พระสมณโคดม ที่พวกเราเคยปรนนิบัติรับใช้อยู่ระยะนึงนี่นา


วัปปะ
           … ใช่จริงๆ ด้วย … อยู่ๆ ก็เลิกบำเพ็ญเพียร … เอาอย่างนี้ .. ถ้ามาถึง
พวกเราจะไม่ไหว้ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ ปูแต่อาสนะเอาไว้ ถ้าท่านอยากจะนั่งก็นั่งไปเถอะ

 

โกณฑัญญะ (เสียงก้องในความคิด)
           ดูซิ … ความดีใจที่ได้พบพระสมณโคดมทำเอาพวกเรา ลืมเรื่องที่ตกลงกัน
ไว้ว่าจะทำเป็นไม่สนใจ... แม้แต่เราโกณฑัญญะก็ยังลืมหมดเลย

 


วัปปะ
           ท่านสมณโคดม ทำไมถึงได้มาพบกับพวกเราที่ป่าแห่งนี้ได้ล่ะ

 


พระพุทธเจ้า
           พวกท่านอย่าได้เรียกเราเช่นนี้เลย บัดนี้เราได้บรรลุธรรมโดยชอบแล้ว
พวกท่านจงตั้งใจรับฟังเถิด … ถ้าปฏิบัติตาม … ไม่นาน พวกท่านจะได้บรรลุธรรม

 

โกณฑัญญะ
           ในขณะที่ท่านบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลาช้านานนั้น    ท่านยังไม่อาจ
บรรลุธรรมพิเศษได้เลย  เมื่อท่านเลิกความเพียร เป็นเหตุให้พวกเราต้องจากมา
แล้วจะบรรลุธรรมพิเศษได้ยังไง


พระพุทธเจ้า
            ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เราเคยกล่าววาจาเช่นนี้กับพวกท่านบ้างหรือไม่


โกณฑัญญะ
           จริงนะ...ท่านไม่เคยกล่าววาจาเช่นนี้มาก่อน


พระพุทธเจ้า
           การพัวพันด้วยความสุขในกาม...การทรมานตนให้ลำบากทุกข์ยาก...
เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรทำ ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ ทางดำเนินสายกลางคือ
มรรคมีองค์ ๘ เป็นไปเพื่อพระนิพพาน....

 

(เสียงพระพุทธเจ้าค่อยๆ เฟดลง เป็นเสียงจักจั่นจิ้งหรีด  เรไรเข้ามาแทน
เพื่อสื่อเวลา)

(เสียงนกร้องยามเช้า แล้วเสียงพระพุทธเจ้าเข้ามาแทนที่)

 

พระพุทธเจ้า
            อริยสัจ    คือ    ความเป็นจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่
               ทุกข์    คือ    ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ... ควรกำหนดรู้
             สมุทัย    คือ    ความอยากอันเป็นเหตุของทุกข์.. ควรละ
              นิโรธ     คือ    ความดับทุกข์...ควรทำให้แจ้ง
       และ มรรค     คือ    ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์...ควรทำให้เกิดขึ้น

 

บรรยาย
          พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาจบแล้ว …ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตา
เห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบันคนแรก ..


พระพุทธเจ้า
          อัญญาโกณฑัญญะ  อัญญาโกณฑัญญะ.. โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ.....

 

โกณฑัญญะ
           ข้าพระองค์ ขอบรรพชาเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา


พระพุทธเจ้า
          เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด... ธรรมอันเรากล่าวดีแล้วจงประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด

 

บรรยาย
          พระพุทธองค์ได้ประทานบรรพชา ท่านวัปปะวันแรม ๑ ค่ำ   ท่านภัททิยะ
วันแรม ๒ ค่ำ  ท่านมหานามะ วันแรม ๓ ค่ำ  และท่านอัสสชิ วันแรม ๔ ค่ำ
พอถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอนัตตลักขณสูตร


(ทั้งภาพและเสียงเพลงประกอบ แสดงถึงความรู้สึกยิ่งใหญ่)

พระพุทธเจ้า
           ขันธ์  ๕ ได้แก่

                     รูป       คือ     ร่างกาย
                เวทนา       คือ     ความรู้สึกสุข ความทุกข์
                สัญญา       คือ     ความจำมั่นหมาย
                สังขาร       คือ     ความคิดปรุงแต่ง
              วิญญาณ      คือ     ความรู้อารมณ์ต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เรา...ไม่ใช่เขา   ไม่ใช่ของเรา...ไม่ใช่ของเขา 
ไม่ใช่ตัวตนของเรา...ไม่ใช่ตัวตนของเขา.. สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา....

บรรยาย
          หลังจากฟังพระธรรมเทศนา  ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์