โปรดชฎิลสามพี่น้อง
ในแคว้นมคธนั้น มีเมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวง มี พระเจ้าพิมพิสาร
เป็นพระมหากษัตริย์ปกครอง มีชฎิลสามพี่น้องนามว่า อุรุเวลากัสสปะ นทีกัสสปะ
คยากัสสปะ ตั้งตนเป็นคณาจารย์ใหญ่มีบริวารรวมกันถึง ๑๐๐๐ คน ถือตัวเองว่า
เป็นพระอรหันต์ มีคนเคารพ นับถือมากมาย มีลัทธิถือหนักไปในทางบูชายัญ
แต่ในที่สุดพระองค์ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์หลายอย่างจนชฎิลสามพี่น้องและ
บริวารอีก ๑๐๐๐ คน ศรัทธาเลื่อมใส แล้วทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาได้ประทาน
เอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่เหล่าชฎิลและทรงแสดง อาทิตตปริยายสูตร
โปรดภิกษุเหล่านั้นจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งสิ้น
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร ทรงทราบการเสด็จมาสู่กรุงราชคฤห์ของพระบรมศาสดา
แล้ว จึงเสด็จมาเฝ้าพร้อมด้วยข้าราชบริพาร พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา
โปรดพระเจ้าพิมพิสารและบริวาร ๑๑ นหุตะ ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
ส่วนอีกหนึ่งนหุตะนั้น ดำรงตนตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์
พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายอภิวาทกระทำอัญชลีแล้วจึงเสด็จกลับพระนคร รุ่งขึ้น
เวลาเช้า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จเข้าไปสู่พระราชนิเวศน์
ตามพระดำรัสกราบทูลอาราธนาของพระเจ้าพิมพิสาร
หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้ถวาย พระราชอุทยานเวฬุวัน
ให้เป็นสังฆาราม และนับว่าเป็นวัดแรกที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ในยามดึกของ
ค่ำวันนั้น บรรดาเปรตทั้งหลายที่เคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารในอดีตชาติ
ทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารบำเพ็ญกุศลมีการถวายทานเป็นต้น ต่างก็รอรับส่วนบุญ
ที่พระเจ้าพิมพิสารจะอุทิศส่งไปให้ เมื่อรอจนสิ้นวันนั้น ไม่เห็นพระเจ้าพิมพิสารอุทิศ
ส่วนบุญให้ตามที่หวัง จึงพากันส่งเสียงร้องด้วยศัพท์สำเนียงอันน่าสะพรึงกลัว
พระเจ้าพิมพิสารได้สดับเสียงนั้น เกิดความกลัวมาก จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ทรงตรัสให้ทราบความเป็นมา บอกให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนกุศล
ท้าวเธอก็ได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ ทันใดนั้นอาหารทิพย์ก็ปรากฏมีแก่เปรตเหล่านั้น
ต่างพากันบริโภคจนอิ่มหนำสำราญ ร่างกายที่เคยผอมโซทุเรศน่าเกลียดน่ากลัว
ก็กลับดูสะอาดสมบูรณ์ขึ้น
ที่มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
บทภาพยนตร์
ดนตรีประกอบ
อุรุเวล
ท่านนักบวช … เหตุใดท่านถึงได้เข้ามาในเขตอาศรมของเรา
พระพุทธเจ้า
ท่านอุรุเวลกัสสปะ...เราจะมาขอท่านพักอาศัย ที่นี่
อุรุเวล (เสียงก้องในความคิด)
เราถือลัทธิบูชาไฟ … ส่วนนักบวชคนนี้แตกต่างไปจากลัทธิของเรา …
เรื่องอะไรจะให้มาพักอาศัยอยู่กับเราหละ
อุรุเวลฯ
ตอนนี้ที่นี่ไม่มีสถานที่ว่างให้พักอาศัยหรอก ท่านไปหาที่พักที่อื่นเถอะ
แต่เราขอเตือนท่านว่าท่านอาจจะต้องเดินทางไกลออกไปมากหน่อย
เพราะตลอดริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราย่านนี้ เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกเรา ชฏิล ๓ พี่น้อง
อุรุเวลฯ
บริเวณนี้เป็นอาศรมของเรา “อุรุเวลกัสสปะ” มีบริวาร ๕๐๐ คน
ริมฝั่งคุ้งแม่น้ำถัดไป เป็นที่อยู่ของน้องคนกลางของเรา มีชื่อว่า “นทีกัสสปะ”
มีบริวาร ๓๐๐ คน ถัดต่อไปอีกเป็นน้องสุดท้องมีชื่อว่า “คยากัสสปะ”
มีบริวาร ๒๐๐ คนแต่ละที่ล้วนมีคนอยู่เต็มหมดแล้ว
พระพุทธเจ้า
แต่เรายังพอเห็นสถานที่ว่างอีกแห่งหนึ่ง
อุรุเวลฯ
ที่ไหนเรอะ
พระพุทธเจ้า
ในโรงบูชาไฟของท่าน … ท่านจงอนุญาตให้เราพักที่นั่นด้วยเถิด
อุรุเวลฯ
ท่านนักบวช … ถ้าท่านจะพักในโรงบูชาไฟของเรา … เราก็ไม่รังเกียจหรอก แต่ขอบอกให้รู้ไว้ก่อนนะว่า ในนั้นน่ะมีพญานาคดุร้ายแถมยังมีพิษมากซะด้วยสิ … เราเกรงว่าท่านจะได้รับอันตราย เอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่าๆ
พระพุทธเจ้า
ท่านอุรุเวลกัสสปะ พญานาคนั่นคงไม่เบียดเบียนเราหรอก ..
ขอเพียงท่านอนุญาตให้เราพักอาศัยก็พอแล้ว
อุรุเวลฯ
งั้นก็ขอให้ท่านพักผ่อนตามสบายเถอะ … ท่านนักบวช
(เสียงแสกสากของลำตัวที่กำลังเลื้อยสัมผัสพื้นและเสียงลมหายใจ
รุนแรงดุร้ายของพญานาคดนตรีตื่นเต้นตกใจ)
(เสียงพญานาคกรีดร้องอย่างเจ็บปวดเป็นเสียงสัตว์ร้อง)
อุรุเวลฯ
ป่านนี้ … นักบวชนั่น คงถูกไฟพญานาคมอดไหม้ไปแล้ว
อุรุเวลฯ
อา …นักบวชผู้นี้มีฤทธิ์มากเหมือนกัน …
อุรุเวลฯ
… แต่ถึงยังไง ก็ยังไม่ใช่พระอรหันต์เหมือนกับเราหรอก
อุรุเวลฯ
นักบวชผู้นี้มีอานุภาพมากจริงๆแม้แต่เทพยดาทุกชั้นฟ้ายังผลัดเปลี่ยนกัน
มาเฝ้าฟังธรรมกัน ทุกคืน …
อุรุเวลฯ
แต่ถึงจะมีฤทธิ์มากขนาดไหน ก็ยังไม่ใช่ พระอรหันต์เหมือนกับเรา
อุรุเวลฯ
ฝนตกหนักจนน้ำท่วมไปหมด …นักบวชนั่นถูกกระแสน้ำพัดจมหายไปแล้วล่ะมั้ง
บริวาร
ท่านอาจารย์ … ท่านอาจารย์ … ดูโน่นสิ
อุรุเวลฯ
นักบวชนี่ มีอานุภาพถึงขนาดนี้เชียวเหรอ … เฮ่อ … แต่ถึงยังไง
ก็ไม่ใช่พระอรหันต์เหมือนเราหรอก
พระพุทธเจ้า (เสียงก้องในความคิด)
ชฏิลนี้ ทะนงตัวคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ … ช่างดื้อดึงยิ่งนัก
พระพุทธเจ้า
อุรุเวลกัสสปะทางปฏิบัติของท่านไม่ใช่ทางแห่งมรรคผล ทำไม
ถึงถือตนเองว่าเป็น พระอรหันต์ …
พระพุทธเจ้า
ท่านหลอกตัวเองแล้วยังหลอกผู้อื่นต่อไปอีก …ถ้าท่านละความถือตัว
และปฏิบัติตามคำสอนของเรา … ท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในไม่ช้า
อุรุเวลฯ
โอ … ข้าพระองค์สำนึกแล้ว ขอพระพุทธองค์อนุญาตให้ข้าพระองค์ได้บรรพชา และสั่งสอนธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระพุทธเจ้า
ท่านเป็นอาจารย์เจ้าสำนักที่ยิ่งใหญ่มีบริวารมากมาย
ท่านจงไปบอกให้บริวารของท่านทราบทั่วกันก่อนเถิด
คยาฯ
เอ … นี่มันเป็นชุดและเครื่องบูชาไฟ ลอยมาจากต้นแม่น้ำ พี่อุรุเวล
กับพี่นทีกัสสปะ ตั้งอาศรมอยู่เหนือเราขึ้นไปนี่นา … ต้องเกิดอะไรขึ้น
กับพี่ทั้งสองแน่เลย
คยาฯ
พี่อุรุเวลฯ … พี่นที …
อุรุเวลฯ
น้องคยา ตอนนี้พี่ทั้งสองเห็นหนทางแห่งธรรมแล้ว เจ้าจงรีบพาบริวาร
ทั้ง ๒๐๐ คน มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ผู้ชี้ทางสว่างเร็วๆ เถอะ
พระพุทธเจ้า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...สิ่งทั้งปวงนั้นเป็นของร้อน เกิดขึ้นจาก สัมผัสของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อสัมผัสเกิด... อารมณ์ต่างๆ ก็เกิด.... จะเป็นสุขก็ดี จะเป็นทุกข์ก็ดี หรือไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ก็ดี ...เพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ
ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ เพราะความตาย ร้อนเพราะ
ความโศกเศร้า เพราะความทุกข์ เพราะความเสียใจ เพราะความคับแค้นใจ
อริยสาวกผู้ได้สดับและเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในความรู้สึก ในอารมณ์เหล่านั้น
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความยึดติด เมื่อคลายความยึดติด จิตก็หลุดพ้น
พระเจ้าพิมพิสาร
โอ ...พระพุทธองค์ เสด็จมาประทับอยู่ที่นั่นเอง
พระเจ้าพิมพิสาร (เสียงก้องในความคิด)
เมื่อครั้งที่เรายังเป็นขัตติยกุมาร เราได้ตั้งความปรารถนาไว้ ๕ ประการ คือ
๑. ให้ได้เป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นมคธ
๒. ขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมายังแว่นแคว้นของเราก่อน
๓. ขอให้เราได้เข้าไปนั่งใกล้พระพุทธองค์
๔. ขอให้พระพุทธองค์แสดงธรรมแก่เรา
๕. ขอให้เราเข้าถึงพระธรรมพระพุทธองค์
และตอนนี้ความปรารถนาของเราใกล้จะสมหวังแล้ว
พระเจ้าพิมพิสาร
พวกท่านตามเราเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยกันเถอะ เราจะขอให้ท่าน
แสดงธรรมโปรด
พระพุทธเจ้า
ทานคือการให้ มีอภัยทานเป็นเลิศ... ...ผู้ที่บำเพ็ญอยู่เป็นนิจ
ย่อมเป็นผู้อ่อนโยน...สำรวม...เยือกเย็น เพราะได้ละ...ได้คลาย...
ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ และในตัวตน
พระเจ้าพิมพิสาร
บัดนี้ … ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จแล้วทุกประการ … หม่อมฉัน
มีความเบิกบานในพระธรรมเทศนายิ่งนัก…พรุ่งนี้เช้าขออาราธนาพระพุทธองค์
และภิกษุสาวกทั้งหมด ไปฉันภัตตาหารที่พระราชวังด้วยเถิด …
พระเจ้าพิมพิสาร
สวนลัฏฐิวัน ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่นั้น ห่างไกลจากเมือง … ผู้ที่มีศรัทธา
เดินทางไปไม่ค่อยสะดวก …หม่อมฉันขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นพระอาราม
เพราะเป็นป่าไผ่ร่มรื่น สถานที่ก็กว้างใหญ่ไม่ห่างไกลจากเมือง แต่เป็นที่มีความสงบ
ร่มรื่น … ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันได้สร้างพระอารามที่นั่น
ถวายด้วยเถิด
(ดนตรีประกอบแสดงความยิ่งใหญ่ เพราะเกิดวัดที่เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาแห่งแรก)
พระอัสสชิ
โอ … นี่หรือวัดพระเวฬุวัน นับว่าเป็นการวางรากฐาน พระพุทธศาสนา
ลงสู่พื้นพสุธาตั้งแต่บัดนี้แล้ว …
พระอัสสชิ(เสียงก้องในความคิด)
นับแต่เรา … พระอัสสชิได้จากพระพุทธองค์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เพื่อออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็ไม่ได้พบกับพระพุทธองค์อีกเลย
|